ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ มุ่งประโยชน์ส่วนรวม มีเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ ไม่ใช้หน้าที่และอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง

“สตรีและครอบครัวมั่นคง สังคมเสมอภาค”

⚖️ การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเกี่ยวข้องกับพวกเราอย่างไร? ⚖️

19 มิ.ย. 2567

44 view

กชนุช ทองอุไร

⚖️ การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเกี่ยวข้องกับพวกเราอย่างไร? ⚖️
ตั้งแต่ตอนก่อนเราเกิดมา ตอนที่แม่ตั้งท้องเรา เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ในบางสังคมหากรู้ว่าเราผู้ซึ่งยังไม่ทันได้เกิดออกมาเป็นเพศอะไร บ้างก็ถูกเลือกว่าไม่ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว
เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก สังคมก็เริ่มคาดหวังให้เราเป็นแบบต่าง ๆ เด็กผู้ชายควรจะเป็นอย่างไร เด็กผู้หญิงควรจะเป็นอย่างไร พวกเราถูกแบ่งแยกให้แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เสื้อผ้า ความประพฤติ แม้แต่อารมณ์ความรู้สึก บางครั้งยังถูกห้ามต่าง ๆ นา ๆ ด้วยเหตุว่าเราเป็นเพศนั้นเพศนี้
เราเรียนรู้และเติบโตมาโดยซึมซับภาพบทบาทจากพ่อและแม่ และครอบครัวจนชินตา ซึ่งหล่อหลอมจนเราคิดว่าความคาดหวังและบทบาทของแต่ละเพศที่แตกต่างกันเป็นเรื่องตามขนบที่ปกติ ไม่ว่าจะในสื่อการเรียนการสอน ทีวี ในภาพยนตร์ โฆษณาหรือ
สื่อใด ๆ ต่างก็มักจะฉายภาพชัดเจนว่าเพศไหนควรเป็นอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร และยืนอยู่จุดไหนในสังคม
บางครั้งก็ไม่เข้าใจทำไมเราถึงโดนกีดกันจากสิ่งที่เราชอบด้วยเหตุผลว่าด้วยเพศกำเนิดหรือเพศภาวะของเราอาจไม่เหมาะจะทำสิ่งนั้น บางครั้งเราก็มุ่งมั่นจนทำสำเร็จในสิ่งที่เราชอบ แต่กลับเจอกำแพงอีกหลายด่านสกัดกั้นเราไว้ เช่น เพื่อนบางคน
ใฝ่ฝันจะเป็นเลขานุการแต่บริษัทกลับรับเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ผู้หญิงบางคนได้งานทำตามตั้งใจแต่กลับได้รับค่าจ้างไม่เท่ากับผู้ชาย โดนล้อเลียนว่าไม่สวย อย่างไรก็ไม่มีทางเติบโตในหน้าที่การงาน ผู้หญิงข้ามเพศคนหนึ่งถูกร้องเรียนจากสมาชิกฟิตเนสหญิงคนอื่นว่าเข้าไปใช้ห้องน้ำหญิง ทำให้เกิดความหวาดระแวง หากไม่ไปใช้ห้องน้ำชาย ทางฟิตเนสแจ้งว่าจะขอยกเลิกการเป็นสมาชิก
เราทุกคนต่างลุ้นเคยเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ หรือเคยรับรู้ เคยอยู่ในเหตุการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้บางเรื่องก็ดูเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย อาจจะเกิดจากทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ความไม่รู้ไม่เข้าใจ และการละเลย แต่บางเรื่องกลับสร้างบาดแผล ส่งผลใหญ่หลวงต่อเส้นทางเดินในชีวิต สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ก็คือการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศคืออะไร?
ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ" หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด
เราทุกคนควรระลึกไว้เสมอว่าเพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดคุณค่า ความดี ความสามารถ สิทธิหรือโอกาสของใคร เราควรเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน นั่นเป็นวิถีปฏิบัติในการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในสังคม
🔴 ผลิตโดย : กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

รับชม >> https://fb.watch/sNXyzsbKHv/

ประชาสัมพันธ์ อื่นๆ

Share

icon