ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ มุ่งประโยชน์ส่วนรวม มีเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ ไม่ใช้หน้าที่และอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง

“สตรีและครอบครัวมั่นคง สังคมเสมอภาค”

พม. โดย อธิบดี สค. เข้าร่วมการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี 2567 (2024 APEC Women and the Economy Forum :  WEF)

17 พ.ค. 2567

82 view

นาย ธรรมรัตน์ ศิริรัตน์พาณิชกุล

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 ระหว่างเวลา 21.30 - 23.40 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 12 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี 2567 (2024 APEC Women and the Economy Forum :  WEF) ในส่วนของการประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรีและเศรษฐกิจ (High Level Policy Dialogue on Women and the Economy: HLPDWE) โดยมี Mrs. Angela Teresa Hernandez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและประชากรกลุ่มเปราะบาง สาธารณรัฐเปรู และประธานการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี 2567 เป็นประธานการประชุม 


โดยที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองวาระการประชุม และรับทราบหัวข้อหลักของเอเปค ปี 2567 โดยเปรูให้ความสำคัญกับประเด็น “เสริมสร้าง (Empower) ครอบคลุม (Include) เจริญเติบโต (Grow)” และประเด็นสำคัญของเปรู ได้แก่ 1) การค้าและการลงทุน เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงถึงกัน 2) นวัตกรรมและดิจิทัลเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและในโลก และ 3) การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยืดหยุ่น รวมถึงการรับฟังข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากเลขาธิการเอเปค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และประธานหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ยังได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายการหารือระดับสูงเชิงนโยบาย หัวข้อ “การดึงดูดสตรีและเด็กหญิงในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ : การเสริมพลังสตรีและเด็กหญิงด้วยเทคโนโลยีและทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ดีกว่าเดิม” ว่าไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสตรีและเด็กหญิงในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การได้รับค่าตอบแทนที่มากขึ้น เพื่อเป็นการดึงดูดสตรีและเด็กหญิงในเรื่อง STEM ไทยมีการกำหนดนโยบายและการประสานความร่วมมือในการดำเนินการ สอดคล้องกับกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่สตรีอย่างครอบคลุม และแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสตรี ฉบับปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาเรื่อง STEM โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1) ส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ 2) เสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านการศึกษาให้สามารถดึงความสนใจและพัฒนาศักยภาพของเด็กหญิงในสาขา STEM 3) สร้างสตรีต้นแบบในสาขา STEM 4) สนับสนุนทุนการศึกษา ทุนวิจัยแก่ผู้หญิงในสาขา STEM ในโลกแห่งการทำงาน และ 5) ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและผลักดันสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมิตรต่อสตรีและมีความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ และมีข้อริเริ่มที่สำคัญ เช่น มาตรการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มาตรการส่งเสริมการลาของสามีเพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด และมาตรการขยายวันลาคลอดของแม่โดยได้รับค่าจ้าง และเพื่อเป็นการขจัดอคติและภาพเหมารวมทางเพศ ไทยได้พัฒนากฎหมายและนโยบาย รวมถึงพัฒนากลไกเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเสริมพลังสตรี และไทยมีความมุ่งมั่นและความพยายามในการส่งเสริมสตรีในด้าน STEM เพื่อทำให้แน่ใจว่าสตรีจะมีโอกาสและจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในไทย และในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกต่อไป


นอกจากนี้ นายธนสุนทร สว่างสาลี ยังได้ร่วมรับรองร่างแถลงการณ์เอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี 2567 (2024 APEC Women and the Economy Forum (WEF) Statement) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม และร่วมรับฟังผู้แทนสาธารณรัฐเกาหลีนำเสนอแผนในการจัดการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ปี 2568 จากนั้นMrs. Angela Teresa Hernandez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและประชากรกลุ่มเปราะบาง สาธารณรัฐเปรู และประธานการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี 2567 ได้กล่าวปิดการประชุม

ประชาสัมพันธ์ อื่นๆ

Share

icon