ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ มุ่งประโยชน์ส่วนรวม มีเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ ไม่ใช้หน้าที่และอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง

“สตรีและครอบครัวมั่นคง สังคมเสมอภาค”

รมว.พม. พร้อมด้วย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา นำทีมคณะผู้บริหาร พม. และคุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ ติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาวให้แก่ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี แสดงเจตนารมณ์ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

29 ต.ค. 2567

148 view

นาย ธรรมรัตน์ ศิริรัตน์พาณิชกุล

วันนี้ (29 ต.ค. 67) เวลา 08.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในการกีฬา นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ นางแบบ นักแสดง และทูตสันถวไมตรี UN Women Asia Pacific และคณะผู้บริหาร พม. ร่วมติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว แก่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยใช้ “ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) เป็นสื่อสัญลักษณ์สากลในการยุติความรุนแรง ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า ข้อมูลจากเลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ว่า “ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิง คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นมากที่สุด ทุกที่ทั่วโลก และทุก 11 นาที จะมีสตรีหรือเด็กผู้หญิงหนึ่งคนเสียชีวิตด้วยน้ำมือของคนรักหรือสมาชิกในครอบครัว” ดังนั้น ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวไม่ใช่เพียงปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ความรุนแรงในครอบครัวยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยจากข้อมูลจากศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ของกระทรวง พม. พบว่า มีผู้แจ้ง/ร้องเรียน และสอบถามขอคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับความรุนแรงผ่านช่องทางของกระทรวงฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2567 รวมทั้งสิ้น 1,427 ราย เป็นความรุนแรงในครอบครัวไปแล้วกว่า 1,026 กรณี ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ และจากรายงานการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ข้อมูล 1 ต.ค. 66 – 30 ก.ย. 67)  พบว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 2,455 ราย โดยความรุนแรงที่พบอันดับหนึ่งคือด้านร่างกาย 1,722 ราย รองลงมาคือด้านจิตใจ 1,583 ราย และด้านเพศ 142 ราย ละเลย/ทอดทิ้ง 101 ราย และเสียชีวิต 84 ราย ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่งคือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ และความรู้สึกเชิงอำนาจ การหึงหวง ปัญหาสุขภาพจิต หรือความเครียดทางเศรษฐกิจ ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจากข้อมูล พบว่าผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานะเป็นสามี หรือเป็นพ่อ โดย กระทรวง พม. ได้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของคดีความ ด้านการแพทย์และด้านสังคมสงเคราะห์

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) โดยได้ดำเนินการผลักดันนโยบายและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงหลายด้าน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองทุกเพศ ทุกวัย โดยการปรับเปลี่ยนฐานคิดและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายและเร่งสร้างการรับรู้ให้คนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลไกทั้งในระดับจังหวัดและระดับชุมชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน

สำหรับเดือนพฤศจิกายน กระทรวง พม. จัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดทั้งเดือนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยในปีนี้ กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ในวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2567 ภายใต้แนวคิด "สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง" (ACT NOW to end Violence against Women and Gits) ณ ลานอัฒจันทร์ ชั้น LG สยามสแควร์วัน (SQ-1) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ทุกคนในสังคมตระหนักรู้ รับรู้ถึงสาเหตุ ปัจจัยและแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว การสร้างเจตคติค่านิยม และปลูกฝังมายาคติที่ถูกต้องและเหมาะสม การส่งเสริมบทบาทในการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นพลังในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวให้หมดสิ้นไป โดยกิจกรรมประกอบด้วย การเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ โดยมีองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาคราชการ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สมาคมกีฬา ศิลปินดารา เด็ก นักเรียน นักศึกษา สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และประชาชนทั่วไป รวมกว่า 600 คน ร่วมเดินรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ พิธีมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรและหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงฯ การร่วมแสดงเจตนารมณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงฯ จากภาคีเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ การแสดง Flash Mob ชุดการแสดง “10 คำดี” จากวงดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมรับชมคอนเสิร์ต โดยศิลปินวง Getsunova

นอกจากนี้ ในส่วนภูมิภาค ได้สนับสนุนให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 หรือตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงแม้ว่าเดือนพฤศจิกายนจะเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ แต่ขอเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้กับสังคมในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่ช่วงเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น การยุติความรุนแรง สามารถเริ่มได้ที่ตัวเรา  และเริ่มได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอเทศกาลหรือวันรณรงค์  เหมือนกับแนวคิดการจัดงานของเราในปีนี คีย์หลักคือ ACT NOW คือเริ่มทันที ! โดยเริ่มจากการที่ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรง” ไม่มองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ขอให้ทุกคนร่วมกันสร้างสังคมที่ไร้ความรุนแรงไปด้วยกัน

ประชาสัมพันธ์ อื่นๆ

Share

icon